มติสมัชชา ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เป้าหมายมติ : ชุมชนต้นแบบ RDU
1. ขอให้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง สถานพยาบาลและสถานบริการสุขภาพทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งแผนปัจจุบันและแผนไทย ผู้นำทางศาสนา อาสาสมัคร ดำเนินการและสนับสนุนการมีส่วนร่วมขององค์กรต่างๆ ในชุมชน รวมทั้งร้านค้าเอกชน ในการออกแบบระบบสุขภาพชุมชน และสร้างความตระหนัก สร้างความรู้เพื่อขับเคลื่อนการใช้ยาอย่างสมเหตุผลโดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง รวมถึงการใช้กลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิต/คณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่ และคณะกรรมการอื่นที่เกี่ยวข้องด้านสุขภาพ หรือการใช้กติกาชุมชนหรือธรรมนูญสุขภาพเป็นเครื่องมือ โดยคำนึงถึงระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย วัฒนธรรมประเพณีวิถีชีวิตของประชาชน

อ้างอิงมติข้อ  - 

รายงานความก้าวหน้า

1. สำนักงานสนับสนุนระบบปฐมภูมิและคลินิกหมอครอบครัว:

(1) สถานพยาบาลที่เป็นหน่วยในบริการของปฐมภูมิ ได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สถานีอนามัย ได้กำหนดเกณฑ์ประเมินคุณภาพ รพ.สต.ติดดาว ให้เรื่องการใช้ยาสมเหตุผลเป็นหนึ่งในหัวข้อของการประเมิน รพ.สต.หรือสถานีอนามัย ซึ่งในขณะนี้ มี รพ.สต.ที่ผ่านเกณฑ์ประเมินแล้วประมาณ 80% แสดงว่า เริ่มมีการทำเรื่องการใช้ยาสมเหตุผลแล้วในสถานบริการที่เป็นหน่วยปฐมภูมิของกระทรวง

(2) การขับเคลื่อนการใช้ยาสมเหตุผลลงในชุมชน มีแผนการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2565 ผ่านกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) (800 แห่ง) และมีแผนที่จะหาเวทีในการพูดคุยกับ รพ.สต. เกี่ยวกับระบบสุขภาพชุมชนจะมีกลวิธีทำงานเรื่องยาอย่างไร เช่น เสนอให้ รพ.สต. จัดทำโครงการเสนอของบประมาณต่อกองทุนสุขภาพตำบล โดยเบื้องต้นทางหน่วยงานจะสำรวจความสนใจของ รพ.สต. มีกี่แห่งที่สนใจทำโครงการเพื่อเสนอของบในพื้นที่ตัวเองมาทำงาน และเสนอผ่านได้รับงบประมาณสนับสนุนกี่แห่ง
2. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชัยนาท: ในการทำงานการใช้ยาสมเหตุผลผ่านกลไก พชอ. จะเป็นเรื่องที่ยากหน่อย เพื่อให้ พชอ. เข้าใจ ควรมีการทำโครงการต้นแบบหรือตัวอย่างประมาณ 3 - 4 โครงการ ในการไปเสนอขอทุนของกองทุนสุขภาพตำบลก็จะช่วยพื้นที่ทำงานได้ง่ายขึ้น

3. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.):

- ปี 2557-2559 เป็นโครงการในโรงพยาบาลทำเกี่ยวกับระบบยา (RDU hospital project)

- ปี 2560-2564 เป็นการเคลื่อนในเชิงนโยบาย มาตรฐาน และเน้นให้ชุมชนเข้ามีบทบาทร่วมด้วย เช่น กำหนดใน service plan/ HA standard/ primary care unit (เพิ่มเกณฑ์ใน รพ.สต.ติดดาว)

- ปี 2565-2569 มีแผนดำเนินงาน “จังหวัด RDU” โดยกำหนดเป็นตัวชี้วัดกระทรวง โดยความร่วมมือของกรมในส่วนกลาง ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (กองบริหารการสาธารณสุข) กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565 เพื่อนำนโยบายประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผลสู่การปฏิบัติ ในชื่อว่า “การพัฒนาสู่จังหวัดใช้ยาอย่างสมเหตุผล (RDU province)” เพื่อยกระดับคุณภาพบริการสุขภาพ ทั้งรัฐและเอกชน และแก้ปัญหายาในชุมชน ทั้งด้านการกระจายยาในร้านชำหรือออนไลน์ และการสร้างรอบรู้ด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล

- จัดทำร่างแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบยาของประเทศไทย พ.ศ.2566 – 2570 เพื่อให้มีการขับเคลื่อนการใช้ยาอย่างสมเหตุผลอย่างต่อเนื่อง โดยแผนดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายสำคัญคือ พัฒนากลไกสู่ RDU country เพื่อประชาชนปลอดภัยจากการใช้ยาและมีผลลัพธ์ทางสุขภาพที่ดี

- มีการนำมติสมัชชาสุขภาพฯ มาทำงานภายใต้ประเด็นยุทธศาสตร์ RDU ปี 2563-65 (RDU country) และภายใต้อนุกรรมการฯ

4. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลตำบลทุ่งหลวง: มีการดำเนินงานในโครงการ การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลในพื้นที่ชุมชน ตำบลทุ่งหลวง จังหวัดสุโขทัย เป็นชุมชนต้นแบบที่ทำงานร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

5. คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ 10 ขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดใช้ยาอย่างสมเหตุผลและการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพ (RDU province & AMR) โดยพัฒนาเครือข่ายเฝ้าระวังระดับชุมชนในพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี, ศรีษะเกษ, มุกดาหาร, อำนาจเจริญ และยโสธร ด้วยกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ทำให้เกิดการพัฒนาเครือข่าย การบูรณาการความร่วมมือหน่วยงาน เครื่องมือ กลไก และกระบวนการ